เพราะไวรัสตับอักเสบบีเป็นโรคติดต่อซึ่งแฝงอยู่ในสังคมของเรา หากชะล่าใจอาจต้องเสียใจที่หลัง เนื่องจากหากติดเชื้อแล้วอาจหายได้ยาก หากพูดถึงโรคติดต่อ หลายคนอาจมองข้ามไวรัสตับอักเสบบี เพราะแม้โรคนี้จะแฝงอยู่ในคนจำนวนมาก แต่ด้วยความที่ไม่ปรากฎอาการ จึงทำให้หลายคนมองข้ามและลืมฉีดวัคซีนทั้ง ๆ ที่เราสามารถป้องกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ
รู้จักตับอักเสบเรื้อรังจากไวรัสตับอักเสบบี
ไวรัสตับอักเสบบี เป็นสาเหตุของโรคตับที่สำคัญของประเทศไทย เนื่องจากมีอัตราการติดเชื้อที่สูงประเทศหนึ่งของโลก ผู้ที่ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีส่วนหนึ่งจะมีการอักเสบเรื้อรังของตับ มีโอกาสดำเนินโรคเป็นตับแข็งและมะเร็งตับในที่สุด
ผู้ที่ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีเรื้อรังมักไม่แสดงอาการ จำเป็นต้องอาศัยการตรวจเลือดเพื่อยืนยันการติดเชื้อและดูการอักเสบของตับ ผู้ป่วยจำนวนมากจะทราบว่าติดเชื้อโดยบังเอิญจากการตรวจร่างกายประจำปีหรือการบริจาคเลือด
เชื้อไวรัสตับอักเสบบี ติดต่อกันอย่างไร
- ติดต่อจากมารดาสู่ทารก มักเกิดการติดเชื้อขณะคลอด พบวิธีนี้ได้บ่อยที่สุด
- ติดต่อทางเพศสัมพันธ์ โดยมีโอกาสติดเชื้อวิธีนี้ง่ายกว่าไวรัสเอชไอวี
- ติดต่อโดยทางเลือด การใช้ของมีคมที่เปื้อนเลือด การใช้เข็มฉีดยาร่วมกัน การฝังเข็ม การสักตามร่างกาย หรือการเจาะหูที่ไม่สะอาด
ยังไม่มีหลักฐานว่าการรับประทานอาหารร่วมกันหรือการทำงานด้วยกันตามปกติจะทำให้ติดต่อได้
ทราบได้อย่างไรว่าติดเชื้อหรือเป็นพาหะหรือไม่
ผู้ป่วยที่ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีแบบเรื้อรัง ทั้งที่มีและไม่มีตับอักเสบส่วนใหญ่มักไม่มีอาการ การติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีจะทราบได้จากการตรวจเลือด โดยแพทย์โรคระบบทางเดินอาหารและตับจะตรวจหาส่วนประกอบของเชื้อหรือตรวจนับจำนวนเชื้อโดยตรง และจะตรวจการอักเสบของตับถ้าผู้ป่วยมีการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี
การรักษา
ปัจจุบัน ผู้ที่เป็นพาหะไวรัสตับอักเสบบีแต่ไม่มีการอักเสบของตับ ยังไม่ต้องใช้ยารักษา
ส่วนผู้ที่มีตับอักเสบเรื้อรังจากไวรัสตับอักเสบบีสามารถใช้ยารักษาได้ ยาที่ใช้อยู่ในปัจจุบันมี 2 กลุ่ม
- ยาฉีดกลุ่มเพ็กอินเตอร์เฟอรอน (Pegylated interferon) ทำหน้าที่กระตุ้นภูมิต้านทานและควบคุมปริมาณไวรัส
- ยาต้านไวรัสชนิดรับประทาน ทำหน้าที่กดการสร้างไวรัส ทำให้การอักเสบของตับลดลง
ทั้งนี้ แพทย์จะเลือกยาให้เหมาะกับผู้ป่วยแต่ละราย
ประโยชน์ของการรักษาไวรัสตับอักเสบบีเรื้อรัง
ลดปริมาณไวรัส ลดการอักเสบของตับ ลดพังผืดและแผลเป็นในตับ ทำให้สมรรถภาพของตับดีขึ้น ลดความเสี่ยงในการเกิดตับวายและมะเร็งตับ
การเฝ้าระวังการเกิดมะเร็งตับ (Hepatocellular carcinoma) ทำได้โดยการตรวจอัลตราซาวด์ช่องท้องและการตรวจเลือดหาสาร alpha fetoprotein เป็นประจำทุก 6 เดือน ผู้ป่วยไวรัสตับอักเสบบีที่เป็นกลุ่มเสี่ยงของมะเร็งตับ ได้แก่
- ผู้ป่วยชายอายุมากกว่า 40 ปี
- ผู้ป่วยหญิงอายุมากกว่า 50 ปี
- ผู้ป่วยที่มีประวัติมะเร็งตับในครอบครัว
- ผู้ป่วยที่มีภาวะตับแข็ง
โรคไวรัสตับอักเสบบี ป้องกันได้
วิธีที่ดีที่สุดในการป้องกันการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี คือ การสร้างภูมิคุ้มกันต่อเชื้อไวรัสตับอักเสบบี โดยการฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบบี จะช่วยสร้างภูมิคุ้มกันขึ้นในคนส่วนใหญ่ ซึ่งปกติถ้ามีภูมิแล้วจะป้องกันการติดเชื้อได้ตลอดชีวิต
- ภรรยาที่มีภูมิคุ้มกันแล้วสามารถกินอยู่หลับนอนได้ตามปกติกับสามีที่มีเชื้อไวรัสตับอักเสบบีโดยไม่ติดเชื้อไปสู่ภรรยา เมื่อภรรยาไม่มีเชื้อไวรัสตับอักเสบบีก็จะไม่สามารถติดต่อไปสู่ลูกตอนคลอดได้
- ปัจจุบันทารกแรกเกิดทุกคนจะได้รับวัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบบีตั้งแต่แรกคลอด หลังฉีดวัคซีนครบ 3 เข็มแล้วเกือบทั้งหมดจะมีภูมิคุ้มกัน
- เราสามารถตรวจได้ว่ามีภูมิคุ้มกันหรือไม่ โดยการตรวจเลือด ซึ่งปกติไม่ได้แนะนำให้ตรวจเป็นประจำ อาจตรวจเฉพาะในรายที่สงสัยหรือมีญาติสนิทเป็นโรคตับอักเสบจากไวรัสบีเท่านั้น
- คนที่ไม่มีภูมิคุ้มกันจำเป็นจะต้องระวังการติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์และทางเลือด (ของมีคม การรับบริจาคเลือด - ซึ่งปัจจุบันมีโอกาสน้อยมาก ใช้เข็มฉีดยาเสพติดร่วมกัน การสักหรือเจาะร่างกาย)
การปฏิบัติตนสำหรับผู้ป่วยไวรัสตับอักเสบบีเรื้อรัง
1. งดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
2. รับประทานอาหารที่สุก สะอาด หลีกเลี่ยงอาหารที่อาจมีสารอัลฟาท็อกซิน เช่น ถั่วป่น พริกป่น ปลาเค็ม
3. ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอแต่ไม่หักโหม
4. พักผ่อนให้เพียงพอ
5. พิจารณาฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบเอถ้ายังไม่มีภูมิคุ้มกัน
6. พิจารณาฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่
7. พบแพทย์โรคระบบทางเดินอาหารและตับอย่างสม่ำเสมอ เพื่อตรวจติดตามการอักเสบและการเกิดมะเร็งของตับซึ่งมักไม่มีอาการเตือน
ด้วยความปรารถนาดีจาก
ศูนย์เดินทางอาหาร
02-836-9999 ต่อ 3421-3